Picture of the author
autobacsautobacs
autobacs

รถหม้อน้ำรั่วขับต่อได้ไหม? อันตรายที่คุณต้องรู้!


วันที่เผยแพร่: 14 พ.ค. 2568

แชร์ไปยัง

Key Takeaway

  • สัญญาณบ่งชี้ว่าหม้อน้ำรั่ว เช่น น้ำหล่อเย็นลดลง พบรอยน้ำหยดใต้รถ เครื่องร้อนจัด หรือได้กลิ่นไหม้ผิดปกติ ควรตรวจสอบทันทีเพื่อป้องกันความเสียหาย

  • ระดับความรุนแรงของการรั่ว แบ่งเป็นรั่วเล็กน้อย ปานกลาง และรุนแรง ซึ่งมีผลต่อความปลอดภัยในการขับขี่และอายุการใช้งานของเครื่องยนต์

  • การขับรถต่อทั้งที่หม้อน้ำรั่วอาจทำให้เครื่องยนต์โอเวอร์ฮีต เสียหายถึงขั้นน็อก และเพิ่มค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมได้

  • การตรวจเช็กหม้อน้ำเป็นประจำ ทำได้ด้วยการเปลี่ยนน้ำหล่อเย็นให้ตรงรุ่น และหลีกเลี่ยงการใช้งานในสภาพอุณหภูมิสูง จะช่วยลดความเสี่ยงได้

  • Autobacs มีบริการตรวจเช็กระบบหล่อเย็น เปลี่ยนน้ำยาหม้อน้ำ และซ่อมหม้อน้ำครบวงจร โดยทีมช่างผู้ชำนาญ และมีศูนย์บริการรถยนต์พร้อมให้บริการทั่วประเทศ


ไขข้อสงสัย! รถหม้อน้ำรั่วขับต่อได้ไหม? ปัญหาหม้อน้ำรั่วอาจเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดคิด และหากไม่มีความรู้ หรือไม่ทันสังเกตสัญญาณเตือน อาจนำไปสู่ความเสียหายร้ายแรงต่อเครื่องยนต์ บทความนี้จะพาคุณมารู้จักสัญญาณเตือนของหม้อน้ำรั่ว วิธีรับมือหม้อน้ำแตกในสถานการณ์ฉุกเฉิน หากหม้อน้ำแตกขับต่อได้ไหม? รวมแนวทางป้องกัน เพื่อให้ขับขี่ได้อย่างปลอดภัยและมั่นใจทุกเส้นทาง

หม้อน้ำในรถยนต์ทำหน้าที่อะไร

หม้อน้ำ (Radiator) เป็นส่วนหนึ่งของระบบระบายความร้อนในเครื่องยนต์ มีหน้าที่หลักคือช่วยควบคุมอุณหภูมิของเครื่องยนต์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยจะทำงานร่วมกับน้ำหล่อเย็น ซึ่งไหลผ่านท่อในเครื่องยนต์เพื่อดูดซับความร้อน จากนั้นน้ำที่มีอุณหภูมิสูงจะถูกส่งมายังหม้อน้ำ เพื่อระบายความร้อนออกผ่านครีบระบายและพัดลม ก่อนหมุนเวียนกลับไปยังเครื่องยนต์อีกครั้ง

หากไม่มีหม้อน้ำเครื่องยนต์อาจร้อนเกินไปจนทำให้ชิ้นส่วนภายในเสียหายหรือถึงขั้นเครื่องยนต์น็อกได้ นอกจากนี้ อายุการใช้งานของหม้อน้ำโดยทั่วไปสามารถใช้งานได้ประมาณ 5 - 8 ปี ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา การใช้น้ำหล่อเย็นที่เหมาะสม และสภาพการใช้งานของรถ หากมีการล้างหม้อน้ำและเปลี่ยนน้ำยาหล่อเย็นตามระยะอาจยืดอายุการใช้งานได้ยาวนานยิ่งขึ้น

สังเกตสัญญาณเตือน ‘หม้อน้ำรั่ว’

การตรวจพบหม้อน้ำรั่ว หรือหม้อน้ำแตกตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยป้องกันความเสียหายต่อเครื่องยนต์ หากปล่อยไว้โดยไม่รู้ตัว อาจส่งผลให้เครื่องยนต์ร้อนจัดจนเกิดปัญหาร้ายแรง ดังนั้น การรู้จักสังเกตสัญญาณเตือนต่างๆ ที่บ่งบอกว่าหม้อน้ำอาจมีปัญหา จึงเป็นสิ่งที่ผู้ใช้รถทุกคนไม่ควรมองข้าม หากสงสัยว่ารถหม้อน้ำรั่วขับต่อได้ไหม? สามารถสังเกตได้จากสัญญาณเหล่านี้เลย

น้ำหล่อเย็นลดลงผิดปกติ

หากระดับน้ำหล่อเย็นลดลงเร็วกว่าปกติ โดยที่ไม่มีการระเหยจากการใช้งานทั่วไป หรือไม่ได้เติมใหม่ อาจเป็นสัญญาณว่าระบบมีการรั่วซึม ผู้ขับขี่สามารถสังเกตได้จากถังพักน้ำหล่อเย็นบริเวณห้องเครื่อง หากระดับน้ำอยู่ต่ำกว่าขีด “MIN” อย่างผิดปกติ แม้เพิ่งเติมไปไม่นาน ควรรีบตรวจสอบระบบระบายความร้อนทันที

พบรอยน้ำหยดใต้รถ

เมื่อรถจอดนิ่ง หากมีรอยน้ำหยดใต้ท้องรถบริเวณด้านหน้าหรือใต้หม้อน้ำ อาจเป็นสัญญาณว่าหม้อน้ำหรือท่อยางมีการรั่วซึม ควรสังเกตลักษณะของน้ำว่ามีสีใส หรือมีสีเขียว ฟ้า ชมพู ซึ่งมักเป็นสีของน้ำหล่อเย็น หากพบคราบน้ำลักษณะนี้เป็นประจำ ควรให้ช่างผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบทันที เพื่อป้องกันการลุกลามของปัญหา

เครื่องยนต์ร้อนเกินไป (Overheating)

อุณหภูมิเครื่องยนต์ที่สูงกว่าปกติหรือเข็มวัดความร้อนหน้าปัดแตะระดับ H (Hot) ถือเป็นสัญญาณเตือนชัดเจนว่าระบบระบายความร้อนกำลังมีปัญหา หากหม้อน้ำรั่วจนของเหลวในระบบลดลง เครื่องยนต์จะไม่สามารถระบายความร้อนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ นำไปสู่การร้อนจัดหรือโอเวอร์ฮีตได้ในเวลาอันสั้น อาจมีไฟเตือนรูปรถพร้อมไอน้ำขึ้นโชว์ร่วมด้วย

กลิ่นไหม้หรือกลิ่นน้ำหล่อเย็น

กลิ่นผิดปกติที่ลอยเข้ามาภายในห้องโดยสาร โดยเฉพาะกลิ่นไหม้ กลิ่นหวานคล้ายน้ำเชื่อม หรือกลิ่นฉุนแปลกๆ อาจเป็นสัญญาณของน้ำหล่อเย็นที่รั่วและไหลไปยังชิ้นส่วนที่มีความร้อนสูง เช่น ท่อไอเสีย หรือฝาครอบเครื่องยนต์ เมื่อโดนความร้อนจะระเหยและส่งกลิ่น หากได้กลิ่นเหล่านี้บ่อยครั้ง ควรตรวจสอบระบบหม้อน้ำและท่อทางเดินน้ำหล่อเย็นโดยเร็ว

ปัญหาหม้อน้ำรั่วเกิดจากอะไร?

หม้อน้ำแตกหรือรั่วไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ ซึ่งหม้อน้ำรั่วเกิดจากสาเหตุหลายปัจจัย ดังนี้

หม้อน้ำเริ่มสึกหรอตามการใช้งาน

หม้อน้ำรั่วเกิดจากหม้อน้ำที่ใช้งานมาเป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดการสึกหรอจากการโดนความร้อนสูงและการกัดกร่อนจากน้ำหล่อเย็นที่หมุนเวียนอยู่ภายใน เมื่อวัสดุภายในหม้อน้ำ เช่น ท่อหรือครีบระบายความร้อน เริ่มผุกร่อน อาจเกิดรูรั่วขนาดเล็กที่มองไม่เห็นได้ในช่วงแรก แต่จะขยายตัวเมื่อใช้งานต่อเนื่อง จนนำไปสู่การรั่วซึมของน้ำหล่อเย็นในที่สุด

ฝาหม้อน้ำเสื่อมสภาพ

ฝาหม้อน้ำทำหน้าที่รักษาระดับแรงดันในระบบระบายความร้อน หากฝาเสื่อมสภาพหรือซีลยางเสื่อมจะทำให้ไม่สามารถควบคุมแรงดันได้ตามปกติ ส่งผลให้แรงดันภายในหม้อน้ำสูงเกินไปจนอาจทำให้หม้อน้ำรั่ว หรือในบางกรณี หากฝาหม้อน้ำเปิดไม่แน่นอาจทำให้น้ำหล่อเย็นระเหยหรือรั่วออกมาจากฝาโดยตรง

หม้อน้ำโดนกระแทกแรง

หม้อน้ำเป็นชิ้นส่วนที่อยู่บริเวณด้านหน้ารถ หากเกิดอุบัติเหตุ หรือมีวัตถุกระแทกอย่างแรงในขณะขับขี่ เช่น หินกระเด็น กระแทกขณะลงหลุมหรือขึ้นลูกระนาด อาจทำให้หม้อน้ำเกิดรอยร้าว มีรูรั่ว หรือหม้อน้ำแตกได้ทันที โดยเฉพาะในรุ่นที่ใช้หม้อน้ำอะลูมิเนียมหรือพลาสติกที่เปราะบางกว่ารุ่นโลหะ

ใช้น้ำยาหล่อเย็นไม่ตรงรุ่นเติมหม้อน้ำ

น้ำยาหล่อเย็นแต่ละรุ่นมีส่วนผสมและค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ต่างกัน หากเติมน้ำยาหล่อเย็นที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ได้มาตรฐาน อาจทำให้เกิดการกัดกร่อนภายในหม้อน้ำและระบบระบายความร้อน รวมถึงเกิดตะกรันสะสม ทำให้ท่ออุดตันหรือวัสดุเสื่อมเร็วขึ้น ซึ่งล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้หม้อน้ำรั่วได้ในระยะยาว

ระดับความรุนแรงของการรั่วของหม้อน้ำ

การรั่วของหม้อน้ำไม่ได้มีเพียงระดับเดียว แต่มีหลายระดับความรุนแรง ซึ่งส่งผลแตกต่างกันต่อสมรรถนะของรถยนต์และความปลอดภัยในการขับขี่ ดังนี้

รั่วเล็กน้อย (ระดับต่ำ)

การรั่วระดับเล็กน้อยมักเกิดจากรอยรั่วขนาดเล็กหรือรอยซึมบริเวณข้อต่อ ท่อยาง หรือฝาหม้อน้ำ อาการที่พบอาจเป็นเพียงระดับน้ำหล่อเย็นลดลงเล็กน้อย หรือมีคราบน้ำแห้งใต้หม้อน้ำ แต่ยังไม่ส่งผลต่ออุณหภูมิเครื่องยนต์ในทันที แม้ดูเหมือนไม่อันตราย แต่หากปล่อยไว้นานอาจทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น จึงควรตรวจสอบและซ่อมแซมโดยเร็ว

รั่วปานกลาง (ระดับกลาง)

การรั่วระดับกลางเริ่มส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบระบายความร้อน น้ำหล่อเย็นจะลดลงอย่างรวดเร็วมากขึ้น อาจมีน้ำหยดให้เห็นขณะรถจอดหรือขับ และเข็มวัดอุณหภูมิเริ่มขยับขึ้นกว่าระดับปกติ หากขับต่อไปโดยไม่เติมน้ำหล่อเย็นหรือแก้ไข อาจนำไปสู่การโอเวอร์ฮีตได้ จึงถือเป็นระดับที่มีความเสี่ยง ควรหยุดพักเครื่องและนำรถเข้าตรวจเช็กโดยเร็ว

รั่วรุนแรง (ระดับสูง)

ในกรณีที่หม้อน้ำรั่วอย่างรุนแรง น้ำหล่อเย็นจะไหลออกจำนวนมากจนหมดในเวลาอันสั้น อาจเห็นน้ำไหลเป็นสายใต้รถหรือมีควันออกจากฝากระโปรงหน้ารถ อุณหภูมิจะพุ่งสูงทันทีและมีความเสี่ยงสูงที่เครื่องยนต์จะโอเวอร์ฮีตจนได้รับความเสียหายถาวร เช่น ฝาสูบโก่ง หรือเครื่องน็อก การขับต่อในสถานการณ์นี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง ควรหยุดรถทันทีและขอความช่วยเหลือจากช่างหรือรถยก

หม้อน้ำรั่วขับรถต่อได้ไหม? เสี่ยงต่อเครื่องยนต์อย่างไร

เมื่อพบว่าหม้อน้ำรั่วหรือหม้อน้ำแตก หลายคนอาจลังเลว่าหม้อน้ำรั่วขับรถต่อได้ไหม? แม้ดูเหมือนอาการเล็กน้อย แต่หากไม่ประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบอาจนำไปสู่ความเสียหายร้ายแรงต่อเครื่องยนต์ได้ ซึ่งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับระบบเครื่องยนต์ ได้แก่

เครื่องยนต์ร้อนเกินไปจนพัง (Engine Overheat)

รถหม้อน้ำรั่วขับต่อได้ไหม? หากหม้อน้ำรั่วและยังฝืนขับต่อ ระบบหล่อเย็นจะไม่สามารถรักษาอุณหภูมิของเครื่องยนต์ให้อยู่ในระดับปกติได้ ส่งผลให้เครื่องยนต์ร้อนเกินไป (Overheat) อย่างรวดเร็ว เมื่ออุณหภูมิสูงเกินขีดจำกัด อาจทำให้ชิ้นส่วนสำคัญอย่างฝาสูบ วาล์ว หรือลูกสูบเสียหายถาวร หรือถึงขั้นเครื่องยนต์น็อก ซึ่งถือเป็นความเสียหายที่รุนแรงและมีความเสี่ยงสูง ไม่เพียงส่งผลต่อตัวรถ แต่ยังเป็นอันตรายต่อผู้โดยสาร หากเครื่องยนต์หยุดทำงานกลางทางหรือบนทางด่วน

ระบบระบายความร้อนเสียหาย

การขับรถทั้งที่หม้อน้ำรั่วอาจทำให้ส่วนประกอบอื่นในระบบระบายความร้อน เช่น ปั๊มน้ำ พัดลม หรือท่อทางเดินน้ำหล่อเย็น ต้องทำงานหนักเกินไปเพื่อชดเชยความร้อนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ชิ้นส่วนเหล่านี้สึกหรอเร็วกว่าปกติ หรือเสียหายไปพร้อมกันในระยะเวลาอันสั้น ความเสียหายที่สะสมในระบบอาจทำให้ไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ซ่อมหม้อน้ำแล้วก็ตาม และหากระบบเสียหายระหว่างขับขี่ อาจเกิดความร้อนสะสมจนเกิดไฟลุกไหม้ได้ในกรณีรุนแรง

ค่าใช้จ่ายในการซ่อมสูงขึ้น

การปล่อยให้หม้อน้ำรั่วโดยไม่รีบแก้ไข อาจเริ่มจากปัญหาเล็กน้อยที่สามารถซ่อมแซมได้ในราคาหลักร้อยถึงพันบาท แต่หากยังฝืนขับต่อจนเกิดความเสียหายกับเครื่องยนต์หรือระบบระบายความร้อนอื่นๆ ค่าใช้จ่ายอาจพุ่งสูงขึ้นถึงหลักหมื่นหรือมากกว่านั้น นอกจากนี้ ยังรวมถึงค่ารถยก ค่าแรงช่าง และเวลาที่ต้องหยุดใช้งานรถ ซึ่งล้วนเป็นต้นทุนที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ หากแก้ไขตั้งแต่ระยะเริ่มต้น

วิธีรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อพบว่าหม้อน้ำรั่ว

เมื่อพบว่าหม้อน้ำรั่วหรือหม้อน้ำแตกระหว่างขับขี่ การตั้งสติและรับมืออย่างถูกวิธีคือสิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งมีแนวทางการรับมือเบื้องต้นอย่างปลอดภัย ดังนี้

1. ตรวจสอบระดับน้ำหล่อเย็น

หากสงสัยว่าหม้อน้ำรั่ว ควรจอดรถในที่ปลอดภัยและรอให้เครื่องยนต์เย็นลงก่อนเปิดฝากระโปรงเพื่อตรวจสอบระดับน้ำหล่อเย็นที่ถังพัก หากระดับน้ำต่ำกว่าปกติอาจหมายถึงระบบรั่วซึม ควรหลีกเลี่ยงการเติมน้ำขณะที่เครื่องยังร้อน เพราะอาจเกิดแรงดันสะสมจนทำให้ฝาหม้อน้ำพุ่งออกมาและทำให้ผู้ขับขี่บาดเจ็บได้ หากจำเป็นต้องขับต่อ ควรเติมน้ำเปล่าชั่วคราวเพื่อให้ระบบพอทำงานได้ และขับในระยะสั้นเท่านั้น

2. หาตำแหน่งที่รั่ว

การตรวจสอบตำแหน่งที่รั่วจะช่วยประเมินความรุนแรงของปัญหาเบื้องต้น โดยให้สังเกตบริเวณใต้หม้อน้ำ ท่อยาง และจุดเชื่อมต่อว่ามีน้ำหยดหรือคราบน้ำแห้งหรือไม่ หากพบจุดที่มีน้ำหยดเป็นระยะ หรือมีเสียงฉีดซึมเล็กน้อย อาจเป็นการรั่วระดับต้น ควรใช้วัสดุปิดรั่วชั่วคราว เช่น เทปทนความร้อน หรือกาวอีพ็อกซี่โดยเฉพาะ เพื่อประคองให้สามารถขับรถไปยังศูนย์บริการเช็กสภาพรถได้

3. หลีกเลี่ยงการขับระยะไกล

หากทราบว่าหม้อน้ำรั่ว ควรหลีกเลี่ยงการขับรถระยะไกลหรือใช้ความเร็วสูง เพราะระบบระบายความร้อนจะทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ และอาจทำให้เครื่องยนต์ร้อนจัดจนเกิดความเสียหายร้ายแรงได้ หากจำเป็นต้องขับต่อควรขับอย่างระมัดระวังด้วยความเร็วต่ำ หมั่นจอดพักเป็นระยะและตรวจสอบระดับน้ำหล่อเย็นอยู่เสมอ เพื่อชะลอไม่ให้เครื่องยนต์โอเวอร์ฮีต

4. นำรถเข้าศูนย์บริการโดยเร็ว

ไม่ว่าจะเป็นการรั่วเล็กน้อยหรือรั่วมาก ควรนำรถเข้าศูนย์บริการหรืออู่ซ่อมโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ช่างผู้ชำนาญทำการตรวจสอบระบบหม้อน้ำและระบายความร้อนทั้งหมดอย่างละเอียด การแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้องตั้งแต่ต้นจะช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจลุกลามไปยังเครื่องยนต์ และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว

การป้องกันปัญหาหม้อน้ำรั่วในอนาคต

แม้ว่าหม้อน้ำรั่วจะเป็นปัญหาที่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่ผู้ขับขี่สามารถลดความเสี่ยงและยืดอายุการใช้งานของหม้อน้ำได้ หากมีการดูแลรักษาที่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ โดยมีแนวทางต่อไปนี้

  • ตรวจเช็กหม้อน้ำเป็นประจำ การตรวจสอบสภาพหม้อน้ำเป็นประจำจะช่วยให้สามารถสังเกตคราบรั่วซึมหรือการผุกร่อนก่อนที่ปัญหาจะลุกลาม ทำให้สามารถซ่อมแซมหรือเปลี่ยนอะไหล่ได้ทันเวลา

  • ใช้น้ำหล่อเย็นคุณภาพดี น้ำหล่อเย็นที่มีคุณภาพจะช่วยป้องกันการกัดกร่อนภายในระบบ ไม่ก่อให้เกิดตะกรันหรือสนิม ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้หม้อน้ำรั่วในระยะยาว

  • หมั่นเปลี่ยนถ่ายน้ำหล่อเย็นตามกำหนด การเปลี่ยนน้ำหล่อเย็นตามระยะเวลาที่ผู้ผลิตรถกำหนดจะช่วยให้ระบบระบายความร้อนทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ลดการสะสมของสิ่งสกปรกที่อาจกัดกร่อนหม้อน้ำ

  • ตรวจสอบท่อยางหม้อน้ำและฝาหม้อน้ำ ท่อยางที่แตกร้าวหรือฝาหม้อน้ำที่เสื่อมสภาพมักเป็นจุดเริ่มต้นของการรั่วซึม การตรวจสอบและเปลี่ยนเมื่อมีรอยชำรุดจะช่วยป้องกันการรั่วก่อนเกิดปัญหาใหญ่

  • หลีกเลี่ยงการขับขี่ในสภาพที่อุณหภูมิสูงเกินไป การขับรถในสภาพอากาศร้อนจัดหรือขับขี่ต่อเนื่องในระยะทางไกลโดยไม่พัก อาจทำให้ระบบระบายความร้อนทำงานหนักเกินไป ควรหมั่นสังเกตเข็มวัดอุณหภูมิและจอดพักหากเครื่องยนต์ร้อนผิดปกติ

สรุป

หม้อน้ำรั่วเป็นปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม เพราะอาจส่งผลให้เครื่องยนต์ร้อนเกินไปจนพังเสียหาย หากพบสัญญาณเตือน เช่น น้ำหล่อเย็นลดลง รอยน้ำหยดใต้รถ หรือกลิ่นไหม้ ควรหยุดรถและตรวจสอบทันที การขับต่อทั้งที่หม้อน้ำรั่วอาจสร้างความเสียหายรุนแรง เช่น หม้อน้ำแตก ซึ่งอาจทำให้เพิ่มค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมมากกว่าเดิม การตรวจเช็กหม้อน้ำเป็นประจำ และใช้น้ำหล่อเย็นคุณภาพดี จะช่วยป้องกันปัญหาในระยะยาวได้

หากคุณไม่แน่ใจว่ารถหม้อน้ำรั่วขับต่อได้ไหม? หม้อน้ํารั่วเกิดจากอะไร ศูนย์บริการรถยนต์ที่ Autobacs พร้อมให้บริการตรวจเช็กระบบระบายความร้อน เปลี่ยนน้ำหล่อเย็น และซ่อมแซมระบบหม้อน้ำโดยช่างผู้เชี่ยวชาญ มั่นใจได้ในความปลอดภัยและมาตรฐานการให้บริการระดับมืออาชีพ

autiobacs-photos
autiobacs-photos
autiobacs-photos
autiobacs-photos
autiobacs-photos
autiobacs-photos
autiobacs-photos
autiobacs-photos
autobacsสาระน่ารู้อื่นๆ

E-mail

Call Center

autobacs-contact

LINE Official

autobacs-line

Messenger

autobacs-messenger
to-top