-01.jpg)
11 สถานีชาร์จรถไฟฟ้าทั่วไทย ชาร์จไฟได้สบายใจ
วันที่เผยแพร่: 18 เม.ย. 2568
Key Takeaway
สถานีชาร์จรถไฟฟ้าเป็นจุดให้บริการเติมพลังงานสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า โดยมีทั้ง AC Normal Charge และ DC Fast Charge ซึ่งคิดค่าบริการตามปริมาณไฟฟ้าที่ใช้
สถานีชาร์จรถไฟฟ้ามักตั้งอยู่ในปั๊มน้ำมัน ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน จุดพักรถ และสถานที่สาธารณะ เช่น PTT EV Station PluZ, EA Anywhere, SHARGE และ MG Super Charge เป็นต้น
งบลงทุนสร้างสถานีชาร์จรถไฟฟ้าขึ้นอยู่กับขนาดและประเภทของสถานี เช่น สถานีชาร์จแบบ AC Normal Charge (22 kW) เริ่มต้นที่ 209,000 - 500,000 บาท ส่วนสถานีชาร์จแบบ DC Fast Charge (50-150 kW) เริ่มต้นที่ 1,000,000 - 3,000,000 บาท
ในยุคที่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลายคนที่กำลังสนใจจะซื้อรถไฟฟ้าหรือมีรถไฟฟ้าอยู่แล้ว อาจเริ่มมองหาสถานีชาร์จที่สะดวก ใกล้ตัว และครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อให้การเดินทางเป็นไปอย่างราบรื่นโดยไม่ต้องกังวลเรื่องแบตเตอรี่หมดกลางทาง บทความนี้เราจึงได้รวบรวมสถานีชาร์จรถไฟฟ้า จากทั่วประเทศไทย พร้อมข้อมูลอัตราค่าบริการ รวมถึงแนวทางสำหรับผู้ที่สนใจลงทุนเปิดสถานีชาร์จของตัวเองมาแนะนำ
สถานีชาร์จรถไฟฟ้าเป็นอย่างไร มารู้จักกัน
สถานีชาร์จรถไฟฟ้า (EV Charging Station) เป็นจุดให้บริการพลังงานไฟฟ้าสำหรับรถ EV ซึ่งมักติดตั้งอยู่ตามสถานีสาธารณะ เช่น ปั๊มน้ำมัน ห้างสรรพสินค้า โรงแรม หรือสถานที่ราชการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้รถ EV สามารถเดินทางได้อย่างต่อเนื่อง โดยสถานีชาร์จ EV จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามความเร็วในการชาร์จ ดังนี้
การชาร์จแบบปกติ (Normal Charge)
การชาร์จแบบปกติ เป็นการชาร์จโดยใช้หัวชาร์จที่รองรับไฟบ้าน 220V หรือผ่าน Wallbox Charger ที่มีความปลอดภัยสูง ซึ่งปกติจะใช้เวลาชาร์จประมาณ 4 - 8 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความจุของแบตเตอรี่ เหมาะสำหรับการชาร์จที่บ้านหรือจุดจอดรถที่สามารถจอดได้นานๆ
การชาร์จแบบเร็ว (Fast Charge)
การชาร์จแบบเร็ว เป็นการชาร์จไฟแบบ DC (Direct Current) ที่สามารถจ่ายไฟแรงสูงได้ถึง 50 - 350 kW ทำให้ชาร์จแบตเตอรี่ได้รวดเร็วกว่าการชาร์จแบบปกติ โดยใช้เวลาเพียง 15 - 60 นาที ก็สามารถชาร์จแบตได้ถึง 80% เหมาะสำหรับสถานีบริการระหว่างทาง หรือตามจุดแวะพักที่ต้องการความรวดเร็วในการชาร์จ
11 สถานีชาร์จไฟฟ้าที่ควรรู้ก่อนออกเดินทาง
เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเดินทาง เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ 11 สถานีชาร์จไฟฟ้าทั่วไทยว่ามีที่ไหนและค่าชาร์จรถไฟฟ้าเท่าไรบ้าง ตามไปดูกันได้เลย!
1. สถานีชาร์จรถไฟฟ้า PTT EV Station PluZ
สถานีชาร์จรถไฟฟ้า PTT EV Station PluZ เป็นที่ชาร์จรถไฟฟ้าที่ดำเนินการโดยบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) ซึ่งมุ่งเน้นการขยายเครือข่ายสถานีชาร์จให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อรองรับการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าในไทย โดยปัจจุบันมีจุดชาร์จรถไฟฟ้ามากกว่า 900 แห่งทั่วประเทศ ครอบคลุมสถานที่สำคัญ เช่น ปั๊มน้ำมัน PTT Station ห้างสรรพสินค้า โรงแรม และจุดพักรถ ตามเส้นทางหลัก
การจองคิวและสั่งการชาร์จ
สามารถจองคิวและควบคุมการชาร์จผ่านแอปพลิเคชัน EV Station PluZ
เว็บไซต์ https://evstationpluz.pttor.com
ราคาค่าบริการชาร์จรถไฟฟ้า
ช่วงเวลา On-Peak (วันจันทร์ - ศุกร์ 09.00 - 22.00 น.) 7.5 บาท/หน่วย
ช่วงเวลา Off-Peak (วันจันทร์ - ศุกร์ 22.00 - 09.00 น. และวันเสาร์ - อาทิตย์ ตลอดวัน) 5.5 บาท/หน่วย
ค่าจองเวลาชาร์จล่วงหน้า 20 บาท/ช่วงเวลา
2. สถานีชาร์จรถไฟฟ้า Shell Recharge
สถานีชาร์จรถไฟฟ้า Shell Recharge เป็นสถานีชาร์จรถไฟฟ้าที่ดำเนินการโดยบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ซึ่งเป็นเครือข่ายสถานีชาร์จจาก Shell Global มีมาตรฐานความปลอดภัยสูงและรองรับการชาร์จแบบ DC Fast Charge โดยปัจจุบันที่ชาร์จรถไฟฟ้าทั้งหมด 11 แห่งทั่วประเทศ ตั้งอยู่ในสถานีบริการน้ำมันเชลล์ในจังหวัดต่างๆ เช่น นครสวรรค์ ตาก นครราชสีมา กรุงเทพฯ ระยอง เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี ชุมพร ภูเก็ต นครศรีธรรมราช และสงขลา
การจองคิวและสั่งการชาร์จ
สามารถจองคิวและสั่งการชาร์จผ่านแอปพลิเคชัน ReverSharger
เว็บไซต์ https://www.shell.co.th/th_th
ราคาค่าบริการชาร์จรถไฟฟ้า
ค่าบริการชาร์จ 6 - 9 บาท/หน่วย
ค่าธรรมเนียมการจองผ่านแอปพลิเคชัน 10 บาท/ชั่วโมง
3. สถานีชาร์จรถไฟฟ้า MEA EV Charging Station
สถานีชาร์จรถไฟฟ้า MEA EV Charging Station ดำเนินการโดยการไฟฟ้านครหลวง (MEA) ซึ่งมุ่งเน้นการขยายเครือข่ายสถานีชาร์จเพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด ลดมลภาวะ และส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบขนส่งพลังงานไฟฟ้าในอนาคต โดยมีสถานีชาร์จทั้งหมด 34 แห่ง พร้อมหัวชาร์จ 138 หัว ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ
การจองคิวและสั่งการชาร์จ
สามารถจองคิวและสั่งการชาร์จผ่านแอปพลิเคชัน MEA EV
เว็บไซต์ https://www.mea.or.th/
ราคาค่าบริการชาร์จรถไฟฟ้า
อัตราค่าบริการ 7.5 บาท/หน่วย (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
4. สถานีชาร์จรถไฟฟ้า PEA VOLTA
สถานีชาร์จรถไฟฟ้า PEA VOLTA ดำเนินการโดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) เพื่อรองรับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในพื้นที่ต่างจังหวัดโดยเฉพาะ ซึ่งปัจจุบันมีที่ชาร์จรถไฟฟ้า 411 แห่งทั่วประเทศ ครอบคลุมทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ กระจายตามสำนักงานการไฟฟ้า ห้างสรรพสินค้า โรงแรม และจุดพักรถ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ EV ที่เดินทางระยะไกล
การจองคิวและสั่งการชาร์จ
สามารถจองคิวและสั่งการชาร์จผ่านแอปพลิเคชัน PEA VOLTA
เว็บไซต์ https://peavoltaev.pea.co.th/
ราคาค่าบริการชาร์จรถไฟฟ้า
ช่วง On-Peak 6.90 บาท/หน่วย
ช่วง Off-Peak 4.50 บาท/หน่วย
5. สถานีชาร์จรถไฟฟ้า EleX by EGAT
EleX by EGAT ที่ชาร์จรถไฟฟ้าดำเนินการโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งให้บริการภายใต้ชื่อ EleX by EGAT เพื่อรองรับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าและส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดภายในประเทศ โดยปัจจุบันมีจุดชาร์จรถไฟฟ้า 50 แห่ง กระจายในสถานีบริการน้ำมัน PT ศูนย์การค้า โรงแรม และสถานที่สาธารณะ ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และหัวเมืองสำคัญทั่วประเทศ
การจองคิวและสั่งการชาร์จ
สามารถจองคิวและสั่งการชาร์จผ่านแอปพลิเคชัน EleXA
ราคาค่าบริการชาร์จรถไฟฟ้า
ในพื้นที่สถานีบริการน้ำมัน PT ตู้ชาร์จ DC ขนาด 120 kW 7.5 บาท/หน่วย ตู้ชาร์จ AC ขนาด 22 kW 7.5 บาท/หน่วย
ในพื้นที่ของ กฟผ. ตู้ชาร์จ DC ขนาด 50 kW 6.5 บาท/หน่วย ตู้ชาร์จ AC ขนาด 22 kW 5.5 บาท/หน่วย
6. สถานีชาร์จรถไฟฟ้า EA Anywhere
EA Anywhere สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ดำเนินการโดยบริษัท พลังงานมหานคร จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียนของไทยที่ให้บริการภายใต้ชื่อ EA Anywhere ในปัจจุบันมีที่ชาร์จรถไฟฟ้าประมาณ 500 แห่ง ทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครเป็นหลัก
การจองคิวและสั่งการชาร์จ
ผู้ใช้สามารถจองคิวและสั่งการชาร์จผ่านแอปพลิเคชัน EA Anywhere
เว็บไซต์ https://www.eaanywhere.com/
ราคาค่าบริการชาร์จรถไฟฟ้า
ตู้ชาร์จแบบ AC 1 ชั่วโมง 80 บาท 2 ชั่วโมง 150 บาท 3 ชั่วโมง 220 บาท และ 4 ชั่วโมง 320 บาท
ตู้ชาร์จแบบ DC เริ่มต้นที่ 7.70 บาท/หน่วย
7. สถานีชาร์จรถไฟฟ้า on-ion EV Charging Station
on-ion EV Charging Station สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ดำเนินการโดยบริษัท ออน-ไอออน โซลูชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด ในกลุ่ม ปตท. โดยมุ่งเน้นการขยายเครือข่ายสถานีชาร์จให้ครอบคลุมพื้นที่สำคัญทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีสถานีชาร์จ 70 แห่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่สาธารณะทั่วประเทศ เช่น ศูนย์การค้า โรงแรม อาคารสำนักงาน และร้านอาหาร เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
การจองคิวและสั่งการชาร์จ
สามารถจองคิวและสั่งการชาร์จผ่านแอปพลิเคชัน on-ion EV Charger
ราคาค่าบริการชาร์จรถไฟฟ้า
AC Charger (7 kW) ค่าชาร์จไฟ 8.50 บาท/หน่วย (kWh) ค่าบริการ 10 บาท/ชั่วโมง
DC Charger (60-100 kW) ค่าชาร์จไฟ 9 บาท/หน่วย (kWh)
8. สถานีชาร์จรถไฟฟ้า EVolt
EVolt สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ดำเนินการโดยบริษัท อีโวลท์ เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ตอัปและผู้นำด้านจุดชาร์จรถไฟฟ้าในประเทศไทย มีสถานีชาร์จมากกว่า 200 แห่ง ทั่วประเทศ โดยตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า โรงแรม อาคารสำนักงาน และสถานที่สาธารณะอื่นๆ
การจองคิวและสั่งการชาร์จ
สามารถจองคิวและสั่งการชาร์จผ่านแอปพลิเคชัน EVolt
เว็บไซต์ https://evolt.co.th/
ราคาค่าบริการชาร์จรถไฟฟ้า
ค่าชาร์จไฟ 8-10 บาท/หน่วย (kWh)
9. สถานีชาร์จรถไฟฟ้า SHARGE
SHARGE สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ดำเนินการโดยบริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้นำด้านการสร้าง EV Charging Ecosystem ในประเทศไทย มุ่งเน้นให้บริการ AC และ DC Fast Charge พร้อมระบบ Smart Charging ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานให้มากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันมีสถานีชาร์จประมาณ 600 แห่งทั่วประเทศ และมีแผนขยายเพิ่มขึ้นเป็น 300,000 แห่งในปี 2568 และ 700,000 แห่งในปี 2573 ในพื้นที่ต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน โรงแรม และสถานที่สาธารณะอื่นๆ
การจองคิวและสั่งการชาร์จ
สามารถจองคิวและสั่งการชาร์จผ่านแอปพลิเคชัน SHARGE
เว็บไซต์ https://sharge.co.th/
ราคาค่าบริการชาร์จรถไฟฟ้า
AC Charge ค่าชาร์จไฟ 8.5 บาท/กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) สถานี SHARGE MBK 60 บาท/ชั่วโมง
DC Charger ค่าชาร์จไฟ 8.7 บาท/กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ปั๊มเชลล์ ตู้ DC 180kW 9 บาท/กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh)
10. สถานีชาร์จรถไฟฟ้า GINKA Charge Point
GINKA Charge Point สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ดำเนินการโดยบริษัท ฟอร์ท สมาร์ท ดิสทริบิวชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ FSMART มีสถานีชาร์จประมาณ 161 แห่ง ทั่วประเทศในพื้นที่ต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน และโรงแรม
การจองคิวและสั่งการชาร์จ
สามารถเช็กคิวว่างได้ผ่านเว็บไซต์ https://www.ginkachargepoint.com/
ราคาค่าบริการชาร์จรถไฟฟ้า
เครื่องชาร์จระบบ AC Type 2 (7.4 kWh) 9.00 บาท/หน่วย (kWh)
11. สถานีชาร์จรถไฟฟ้า MG Super Charge
MG Super Charge สถานีชาร์จรถไฟฟ้าที่ดำเนินการโดยบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ปัจจุบันมีสถานีชาร์จกว่า 150 แห่งทั่วประเทศ ครอบคลุมโชว์รูม MG และสถานที่สำคัญต่างๆ เพื่อรองรับการใช้งานของผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าจาก MG โดยเฉพาะ
การจองคิวและสั่งการชาร์จ
สามารถจองคิวและสั่งการชาร์จผ่านแอปพลิเคชัน i-SMART ซึ่งเป็นระบบเฉพาะของ MG ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถควบคุมและตรวจสอบสถานะการชาร์จได้อย่างสะดวก
เว็บไซต์ https://www.mgcars.com/th/innovation
ราคาค่าบริการชาร์จรถไฟฟ้า
ช่วง Off Peak 6.5 บาท/กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh)
ช่วง Peak 7.5 บาท/กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh)
อยากลงทุนสถานีชาร์จรถไฟฟ้าใช้เงินเท่าไร เลือกทำเลอย่างไร?
สำหรับผู้ที่กำลังสนใจอยากลงทุนในธุรกิจสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ควรพิจารณาปัจจัยสำคัญ 2 ประการ ได้แก่
ทำเลที่ตั้งของสถานีชาร์จรถไฟฟ้า
ทำเลที่ตั้งถือเป็นปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จของสถานีชาร์จรถไฟฟ้า เพราะส่งผลโดยตรงต่อจำนวนผู้ใช้บริการและความคุ้มค่าของการลงทุน ซึ่งควรพิจารณาเลือกอย่างรอบคอบ ดังนี้
เลือกทำเลที่ใกล้แหล่งชุมชนและสถานที่สำคัญ เช่น ห้างสรรพสินค้า สถานที่ทำงาน หรือสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มโอกาสในการใช้งานได้มากยิ่งขึ้น
เลือกทำเลที่เข้าถึงและมองเห็นได้ง่าย เช่น บริเวณทางเข้าอาคาร ลานจอดรถ หรือข้างทางในถนนสายหลัก
เลือกทำเลที่กว้างเพียงพอให้รถเข้าออกได้สะดวก เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัดและความแออัด โดยเฉพาะในช่วงที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก
เลือกทำเลที่มีความปลอดภัย พื้นที่ควรมีแสงสว่างเพียงพอ และสภาพแวดล้อมที่ดี เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการมากยิ่งขึ้น
เลือกทำเลที่มีการเชื่อมต่อกับระบบคมนาคม โดยควรเลือกทำเลที่ใกล้เส้นทางหลัก ทางหลวง หรือทางด่วน เพื่อให้ผู้ขับขี่สามารถแวะชาร์จไฟได้สะดวกระหว่างเดินทางไกล
เงินทุนสำหรับการสร้างสถานีชาร์จรถไฟฟ้า
เงินทุนเริ่มต้นสำหรับการสร้างสถานีชาร์จรถไฟฟ้าจะแตกต่างกันไปตามขนาดและประเภทของสถานี ดังนี้
สถานีขนาดเล็ก ติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้าขนาด 22 kW จำนวน 2 เครื่อง ชนิด AC Normal Charge จะใช้เงินลงทุนเริ่มต้นประมาณ 209,000 - 500,000 บาท
สถานีขนาดใหญ่ ติดตั้งเครื่องชาร์จแบบ DC Fast Charge ที่มีกำลังไฟสูง เช่น 100 kW หรือมากกว่า เงินลงทุนอาจสูงตั้งแต่ 1,000,000 บาท ขึ้นไป
ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นเพียงการประมาณการเท่านั้น ค่าใช้จ่ายจริงอาจแตกต่างกันไปตามสถานที่และข้อกำหนดเฉพาะของโครงการ ซึ่งการลงทุนสร้างที่ชาร์จรถไฟฟ้าอาจมีค่าใช้จ่ายอีกหลายส่วนที่ต้องคำนึงถึง เช่น ค่าโครงสร้างพื้นฐาน ค่าเช่าสถานที่ ค่าติดตั้งระบบไฟฟ้า และค่าขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ ยังมีค่าเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้า ค่าเดินสายไฟ และค่าก่อสร้างสถานี ที่ต้องมีมาตรฐานด้านความปลอดภัยตามกฎหมายกำหนด ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงควรศึกษารายละเอียดและคำนวณต้นทุนอย่างรอบคอบ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างคุ้มค่าและยั่งยืนในระยะยาว
สรุป
สถานีชาร์จรถไฟฟ้าคือจุดให้บริการเติมพลังงานสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมักตั้งอยู่ตามปั๊มน้ำมัน ห้างสรรพสินค้า และสถานที่สาธารณะต่างๆ โดยส่วนใหญ่มีอัตราค่าบริการอยู่ที่ประมาณ 5.5 - 9 บาทต่อหน่วย (ขึ้นอยู่กับแต่ละสถานี)
สำหรับใครที่สนใจอยากลงทุนในธุรกิจสถานีชาร์จไฟฟ้า ควรเลือกทำเลที่ตั้งให้เหมาะสม เช่น บริเวณปั๊มน้ำมัน จุดพักรถ ห้างสรรพสินค้า หรืออาคารสำนักงาน ที่มีการสัญจรของรถยนต์ไฟฟ้าสูง นอกจากนี้ ควรเลือก ประเภทของสถานีว่าจะเป็น AC Normal Charge หรือ DC Fast Charge เพื่อนำมาคำนวณงบประมาณการลงทุนให้เหมาะสมและคุ้มค่ามากที่สุดในระยะยาว