
ผ้าเบรกรถยนต์ควรเปลี่ยนตอนไหน ต้องรู้อะไรบ้าง
วันที่เผยแพร่: 29 เม.ย. 2568
ผ้าเบรกรถยนต์ควรเปลี่ยนตอนไหน เปลี่ยนผ้าเบรกรถยนต์ต้องรู้อะไรบ้าง
Key Takeaway
ผ้าเบรกรถยนต์ประกอบไปด้วย 3 ประเภท คือ ประเภทอินทรีย์ ที่มีทั้งแบบผสมเนื้อใยหิน และไม่ใช่เนื้อใยหิน และประเภทโลหะ ที่มีแบบเนื้อผงโลหะผสมอยู่ รวมถึงประเภทอนินทรีย์ ที่มีเนื้อพรี-เซรามิก / เนื้อคาร์บอน เป็นองค์ประกอบหลัก
แล้วควรเปลี่ยนผ้าเบรกตอนไหน? ควรเปลี่ยนผ้าเบรกเมื่อระบบเบรกเริ่มผิดปกติ ไฟแจ้งเตือนเบรกมือเริ่มทำงาน เบรกมือเริ่มหลวม ผ้าเบรกเริ่มบาง หรือครบรอบระยะเวลาการใช้งานแล้ว เพื่อป้องกันกรณีที่เบรกทำงานผิดปกติ จนอาจเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้
ราคาผ้าเบรกรถยนต์จะแตกต่างกันไปตามยี่ห้อของรถยนต์ รวมถึงประเภทของผ้าเบรก และแหล่งจำหน่ายด้วย จึงควรเลือกร้านเปลี่ยนผ้าเบรกที่มีช่างผู้เชี่ยวชาญ ราคาสมเหตุสมผล มีบริการแบบครบวงจร รองรับการชำระที่หลากหลาย และต้องเป็นร้านที่มีที่นั่งให้รอ เพื่อแสดงถึงความใส่ใจในเรื่องการบริการ
สำหรับรถยนต์ทุกคัน การตรวจเช็กสภาพรถยนต์ที่ขับขี่ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะระบบเบรก ที่จำเป็นจะต้องได้รับการบำรุงรักษาอย่างถูกต้อง เพราะระบบการชะลอรถ หรือเบรกรถ จะมีผ้าเบรกรถยนต์เป็นส่วนประกอบหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งการตรวจสอบให้มั่นใจว่าผ้าเบรกยังอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน ไม่เพียงแต่จะช่วยประหยัดเงินเท่านั้น แต่ยังช่วยป้องกันการเกิดอุบัติเหตุได้ด้วย บทความนี้จะชวนไปทำความรู้จักกับผ้าเบรกรถยนต์ว่าคืออะไร สำคัญอย่างไร เปลี่ยนผ้าเบรกรถยนต์ราคาเท่าไร และผ้าเบรกรถยนต์ควรเปลี่ยนตอนไหน
ผ้าเบรกรถยนต์ คืออะไร
ผ้าเบรกรถยนต์ คือ ส่วนประกอบของรถยนต์ที่สำคัญสำหรับระบบเบรก ผ้าเบรกจะอยู่ระหว่างคันขาเบรกกับดรัมเบรก ในขณะขับรถ และเมื่อเหยียบเบรก ผ้าเบรกจะสร้างแรงเสียดทานระหว่างตัวผ้าเบรกกับดรัมเบรก เพื่อชะลอรถ หรือหยุดความเร็ว เมื่อผ้าเบรกถูกใช้งานไปเรื่อย ๆ อายุการใช้งานก็จะน้อยลง ดังนั้น การเปลี่ยนผ้าเบรกจึงมีความจำเป็น เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ ที่เกิดจากการทำงานของผ้าเบรกที่ไม่ได้ประสิทธิภาพนั่นเอง
ผ้าเบรกรถยนต์ มีกี่ประเภท
มาทำความรู้จักกับประเภทของผ้าเบรกรถยนต์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
1. ผ้าเบรกรถยนต์ประเภทอินทรีย์ (Organic type)
สำหรับผ้าเบรกรถยนต์ประเภทอินทรีย์นั้น ในเริ่มแรกผ้าเบรกจะทำมาจากเนื้อใยหิน ที่สามารถดูดซับความร้อนได้ดี แต่พบว่าเนื้อใยหินเป็นสารก่อมะเร็ง ทำให้ปัจจุบันนี้ผ้าเบรกประเภทอินทรีย์ ได้ผลิตผ้าเบรกแบบไม่ใช่เนื้อใยหินขึ้นมา ผ้าเบรก Organic type จึงแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
Asbestos (เนื้อใยหิน)
เป็นผ้าเบรกที่ใช้เนื้อใยหินเป็นองค์ประกอบหลัก มีข้อดีคือเนื้อผ้าเบรกจะหมดช้า เหมาะกับการขับขี่ทั่วไป จนถึงการเบรกที่รุนแรง ราคาถูก และระยะเบรกสั้นลง ส่วนข้อเสียคือมีอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจของสิ่งมีชีวิตอย่างมาก กินจานเบรก ทำให้มีฝุ่นเยอะ และมีเสียงรบกวน
Non-asbestos (เนื้อไม่ใช่ใยหิน)
เป็นผ้าเบรกเนื้ออินทรีย์ประเภทที่ไม่ใช่ใยหิน โดยประกอบด้วยเนื้อผ้าเบรก 3 ชนิด ดังนี้
NAO - metallic เป็นผ้าเบรกที่ใช้เส้นใยสังเคราะห์เป็นองค์ประกอบ เช่น เส้นใยเซรามิก มีข้อดีคือราคาถูก กินจานเบรกน้อยมาก ฝุ่นน้อย เหมาะกับรถยนต์ส่วนบุคคล และรถแท็กซี่ที่ไม่ได้ใช้ความเร็วสูง ส่วนข้อเสียคือเนื้อผ้าเบรกจะหมดเร็ว ระบายความร้อนได้น้อย ทำงานได้ดีขณะที่ผ้าเบรกอุณหภูมิไม่สูง และมีระยะเบรกยาว
Low-metallic เป็นผ้าเบรกที่ใช้เส้นใยสังเคราะห์ NAO หรือใยเหล็ก มีข้อดีคือทำงานได้ดีตั้งแต่ขณะที่ผ้าเบรกอุณหภูมิไม่สูง จนกระทั่งอุณหภูมิสูง ราคาปานกลาง ส่วนข้อเสียคือทำให้มีฝุ่นเยอะ และมีเสียงรบกวน
Semi-metallic เป็นผ้าเบรกเนื้อกึ่งโลหะ เช่น เหล็กทองแดง เหล็กกล้า เหมาะกับรถบรรทุก รถบัส รถตู้ รถขับเคลื่อน 4 ล้อ หรือรถที่ขับขึ้นลงภูเขาเป็นประจำ มีราคาปานกลาง แต่ทำให้เกิดฝุ่นเยอะ มีเสียงรบกวน และกินจานเบรกกว่าแบบ Low
2. ผ้าเบรกรถยนต์ประเภทโลหะ (Metallic type)
สำหรับผ้าเบรกประเภทโลหะ เป็นผ้าเบรกแบบอัดขึ้นบล็อกด้วยผงเหล็ก สามารถทนความร้อนได้ดี มีประสิทธิภาพการใช้งานสูง แต่อาจมีเสียงดังเมื่อใช้งาน ซึ่งผ้าเบรก Metallic type มีดังนี้
Sintered (เนื้อผงโลหะ)
เป็นผ้าเบรกที่ใช้ผงเหล็กละเอียดมาอัดขึ้นรูป ทำงานได้ดีตั้งแต่ขณะที่ผ้าเบรกอุณหภูมิไม่สูง จนกระทั่งอุณหภูมิเริ่มสูงมาก เหมาะกับการขับขี่ที่ต้องการให้หยุดทันที รถที่ใช้แข่งขัน หรือรถที่ใช้ความเร็วสูง ส่วนข้อเสียคือทำให้มีฝุ่นเยอะ มีเสียงรบกวน และมีราคาแพง
3. ผ้าเบรกรถยนต์ประเภทอนินทรีย์ (Inorganic type)
ผ้าเบรกประเภทนี้ จะใกล้เคียงกับแบบ Semi-metallic โดยมีดังนี้
Pre-Ceramic / Carbon (เนื้อพรี-เซรามิก / เนื้อคาร์บอน)
เป็นผ้าเบรกที่มีเซรามิกเป็นวัตถุดิบ มีความหนาแน่น และทนทานมากกว่าเซรามิกที่ใช้ทำเครื่องปั้นดินเผา มีข้อดีคือไม่กินจานเบรก เนื้อผ้าเบรกจะหมดช้า ทำให้เกิดฝุ่นน้อย ระยะเบรกสั้นลง ส่วนข้อเสียคือราคาที่แพงมาก ระบายความร้อนได้ไม่ดี และทำงานได้ไม่ดีขณะที่ผ้าเบรกอุณหภูมิต่ำ
ทำไมต้องเปลี่ยนผ้าเบรกรถยนต์
ผ้าเบรกรถยนต์เป็นส่วนประกอบของรถยนต์ที่สำคัญสำหรับระบบเบรก ถ้าหากผ้าเบรกเริ่มบาง ก็จะทำให้ระบบการเบรกเริ่มมีความติดขัด อาจจะต้องออกแรงเหยียบเบรกมากขึ้น หรือถ้าหากขับรถมาด้วยความเร็วสูง และจำเป็นต้องเบรกกะทันหัน ก็อาจจะไม่สามารถเบรกเพื่อหยุดล้อรถไว้ได้ ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยในการขับขี่ การตรวจเช็กสภาพของผ้าเบรก และการเปลี่ยนผ้าเบรก จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
ผ้าเบรกรถยนต์ควรเปลี่ยนตอนไหน
สำหรับใครที่สงสัยว่าผ้าเบรกรถยนต์ควรเปลี่ยนตอนไหน แนะนำให้เปลี่ยนเมื่อพบความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากผ้าเบรกเมื่อใช้งานรถยนต์ โดยรีบนำรถไปเปลี่ยนผ้าเบรกรถยนต์ทันที แล้วอาการผิดปกติของผ้าเบรกนั้นมีอะไรบ้าง มาดูกันเลย
ระบบเบรกมีความผิดปกติ
หากพบว่าระบบเบรกมีความผิดปกติ เบรกแล้วมีเสียงดังขึ้น เช่น เหยียบเบรกรถแล้วมีเสียงดังเอี๊ยด ๆ นั่นแปลว่าผ้าเบรกเริ่มบางลงแล้ว ให้เปลี่ยนผ้าเบรกรถยนต์ทันที
เบรกมือหลวม หรือต้องยกสูงกว่าปกติ
ถ้าหากดึงเบรกมือขึ้น แล้วรู้สึกว่าเบรกมือหลวม ๆ จนต้องดึงยกสูงกว่าปกติ นั่นเป็นสัญญาณเตือนว่า ผ้าเบรกเริ่มบางมากแล้วนั่นเอง ให้นำรถไปเช็กผ้าเบรกรถยนต์ทันที
ความหนาของผ้าเบรกน้อยลง
สามารถตรวจเช็กเองได้จากความหนาของผ้าเบรก ถ้าหากผ้าเบรกมีความหนาน้อยลง หรือหนาน้อยกว่า 3 มิลลิเมตร แสดงว่าผ้าเบรกเริ่มหมดแล้ว ให้เปลี่ยนผ้าเบรกรถยนต์โดยทันที
ไฟแจ้งเตือนเบรกมือแสดงบนหน้าปัด
ให้สังเกตไฟแจ้งเตือนเบรกมือแสดงบนหน้าปัด ซึ่งมีอยู่ในรถยนต์หลาย ๆ รุ่น ถ้าหากมีไฟแจ้งเตือนแสดงขึ้น นั่นแปลว่าระบบเบรกกำลังมีปัญหา ซึ่งอาจเกิดจากผ้าเบรกที่เริ่มหมด หรืออาจเกิดจากการที่น้ำมันเบรกรั่ว
ผ้าเบรกครบรอบระยะการใช้งาน
ผ้าเบรกมีอายุการใช้งานประมาณ 60,000–80,000 กิโลเมตร ถ้าหากใช้งานรถยนต์ครบตามระยะแล้ว ก็ควรเปลี่ยนผ้าเบรกใหม่ทันที เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่รถยนต์
เลือกร้านเปลี่ยนผ้าเบรกรถยนต์อย่างไรดี
ปัญหาผ้าเบรกหมด ผ้าเบรกเริ่มบางลง ถึงเวลาต้องเปลี่ยนผ้าเบรก การเลือกร้านเปลี่ยนผ้าเบรกรถยนต์ จะต้องดูจากอะไรบ้าง มาดูกัน!
1. เลือกร้านเปลี่ยนผ้าเบรกรถยนต์ที่มีช่างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
การเปลี่ยนผ้าเบรกรถยนต์ จะต้องทำโดยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ และมีความชำนาญเฉพาะด้าน เพื่อให้ลูกค้าที่มาใช้บริการมีความมั่นใจว่าจะมีการดูแลตามขั้นตอนที่ถูกต้อง และปลอดภัย เพราะกลไกการทำงานของรถยนต์ค่อนข้างที่จะซับซ้อน และมีขั้นตอนที่ละเอียดมาก
2. เลือกร้านเปลี่ยนผ้าเบรกรถยนต์ที่มีบริการครบวงจร
ถ้าหากไม่สะดวกที่จะนำรถเข้าศูนย์เพื่อเปลี่ยนผ้าเบรกรถยนต์ ควรเลือกร้านที่ตรวจเช็กสภาพของผ้าเบรกอย่างครบวงจร บริการอย่างครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นการตรวจเช็กระบบการทำงานของเบรก ความหนาบางของผ้าเบรก และปริมาณของน้ำมันเบรก เพื่อที่จะได้ใช้บริการร้านเดียวแต่ได้ตรวจครบทุกอย่าง ไม่ต้องเสียเงิน หรือเสียเวลาเดินทางไปตรวจเช็กรถในหลาย ๆ ที่
3. เลือกร้านเปลี่ยนผ้าเบรกรถยนต์ที่มีราคาสมเหตุสมผล
ราคาผ้าเบรกรถยนต์ ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องพิจารณา ซึ่งก่อนที่จะเลือกร้าน หรือเลือกศูนย์เพื่อไปเปลี่ยนผ้าเบรกรถยนต์ ให้ตรวจสอบราคา และเครดิตของศูนย์บริการนั้น ๆ เพื่อป้องกันการเสียเงินไปแบบเปล่าประโยชน์ จึงต้องตรวจสอบให้แน่ใจก่อนตัดสินใจเข้ารับบริการเสมอ เพื่อให้ได้ราคาที่สมเหตุสมผล ไม่บวกราคาเพิ่ม และได้ผ้าเบรกใหม่ที่มีคุณภาพเหมาะสมกับราคา
4. เลือกร้านเปลี่ยนผ้าเบรกรถยนต์ที่มีพาร์ตเนอร์บัตรเครดิต
สำหรับการใช้บัตรเครดิตเพื่อชำระค่าบริการในการเปลี่ยนผ้าเบรก นอกจากจะช่วยให้ได้รับส่วนลดพิเศษ และได้รับคะแนนบัตรเครดิตสะสมแต้ม เพื่อนำไปแลกสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามเงื่อนไขแล้ว ยังสามารถใช้บัตรเครดิต เพื่อร่วมโปรโมชั่นผ่อน 0% สามารถช่วยให้การเงินมีความคล่องตัว และไม่ต้องเสียเงินก้อนในการจ่ายค่าใช้บริการอีกด้วย
5. เลือกร้านเปลี่ยนผ้าเบรกรถยนต์ที่มีสถานที่นั่งรอให้บริการ
การเปลี่ยนผ้าเบรกรถยนต์ จะใช้เวลาค่อนข้างนานในการรอ แนะนำให้มองหาศูนย์ หรือร้านซ่อมรถยนต์ที่มีสถานที่ให้นั่งรอระหว่างใช้บริการ เพื่อให้ความรู้สึกที่ผ่อนคลายมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถเดินไปดูรถในขณะซ่อมได้ เพื่อความอุ่นใจ หรือถ้าหากเกิดปัญหา หรือความสงสัยใด ๆ ก็สามารถพูดคุยกับช่างซ่อมรถได้อย่างสะดวกนั่นเอง
เปลี่ยนผ้าเบรกรถยนต์ราคาเท่าไร
ราคาผ้าเบรกรถยนต์อาจแตกต่างกันไปตามยี่ห้อ และรุ่นของรถยนต์ ประเภทของผ้าเบรก และแหล่งจำหน่ายต่าง ๆ เช่น ร้านอะไหล่รถยนต์ ร้านค้าปลีกออนไลน์ หรือตัวแทนจำหน่ายอะไหล่รถยนต์ โดยราคาของผ้าเบรกจะอยู่ระหว่างหลักร้อย ไปจนถึงหลักพันบาท สำหรับใครที่กำลังเจอปัญหาผ้าเบรกหมด ผ้าเบรกเริ่มจาง ระบบเบรกมีความผิดปกติ ที่ AUTOBACS มีบริการเปลี่ยนผ้าเบรก ดูแลรถแบบครบวงจร และครอบคลุม ราคาสมเหตุสมผล และมีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ และได้มาตรฐาน
สรุป
ผ้าเบรกรถยนต์ คือ ส่วนประกอบสำคัญของระบบเบรก เมื่อเหยียบเบรก ผ้าเบรกจะสร้างแรงเสียดทานระหว่างตัวผ้าเบรกกับดรัมเบรกเพื่อชะลอรถ เมื่อผ้าเบรกถูกใช้งานไปเรื่อย ๆ อายุการใช้งานก็จะน้อยลง ถ้าหากผ้าเบรกเริ่มบาง ก็จะทำให้การเบรกเริ่มมีความติดขัด อาจจะต้องออกแรงเหยียบเบรกมากขึ้น หรือถ้าหากขับรถมาด้วยความเร็ว และต้องเบรกกะทันหัน ก็ไม่สามารถเบรกรถได้ จึงทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน การตรวจเช็กสภาพของผ้าเบรก และเปลี่ยนผ้าเบรกรถยนต์ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง หรือถ้าหากพบความผิดปกติต่าง ๆ ของผ้าเบรก ก็ให้รีบนำรถไปเปลี่ยนผ้าเบรกรถยนต์ทันที เพื่อความปลอดภัยในการใช้รถยนต์