-01.jpg)
รู้จักแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า พร้อมเปรียบเทียบราคา
วันที่เผยแพร่: 18 เม.ย. 2568
Key Takeaway
แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ามี 6 ประเภท ได้แก่ ตะกั่ว-กรด นิกเกิล-เมทัลไฮไดรด์ ลิเธียมไอออน โซเดียม-ไอออน โซลิดสเตต และตัวเก็บประจุไฟฟ้า โดยลิเธียมไอออนเป็นที่นิยมที่สุดในปัจจุบัน
ราคาของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับขนาดความจุ ประเภทของแบตเตอรี่ และเทคโนโลยีการผลิต เช่น Tesla ราคาแบตเตอรี่ประมาณ 10,000 - 25,000 $ หรือ 350,000 - 875,000 บาท ขณะที่แบตเตอรี่ NETA V มีราคาถูกกว่าที่ประมาณ 12,100 $ หรือ 420,000 บาท
หากต้องการดูแลแบตเตอรี่รถไฟฟ้าอย่างถูกวิธี สามารถเข้าใช้บริการตรวจสภาพแบตเตอรี่ ดูแลระบบชาร์จ และบำรุงรักษาเพื่อยืดอายุการใช้งานได้ที่ศูนย์บริการ Autobacs เพื่อให้แบตเตอรี่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากที่สุด
การทำความเข้าใจเกี่ยวกับแบตเตอรี่รถไฟฟ้าเป็นสิ่งสำคัญที่ควรพิจารณาก่อนตัดสินใจซื้อรถ เนื่องจากแบตเตอรี่มีผลโดยตรงต่อระยะทางที่รถสามารถวิ่งได้ รวมถึงต้นทุนการเปลี่ยนแบตในอนาคต ซึ่งการเปรียบเทียบราคาต่อความจุของแบตเตอรี่อย่างรอบคอบ จะช่วยให้มองเห็นความคุ้มค่าในการใช้งานระยะยาว พร้อมทั้งช่วยให้สามารถเลือกรถที่เหมาะกับงบประมาณและไลฟ์สไตล์ได้อย่างลงตัว
บทความนี้จะพาคุณไปดูรายละเอียดของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าแต่ละรุ่น พร้อมเปรียบเทียบราคาและคุณสมบัติเพื่อช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าคืออะไรและทำงานอย่างไร?
แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า คือแหล่งพลังงานหลักของรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งทำหน้าที่เก็บและจ่ายพลังงานจากการชาร์จไฟเพื่อขับเคลื่อนมอเตอร์แทนการใช้น้ำมัน โดยเมื่อชาร์จไฟจากแหล่งจ่าย เช่น สถานีชาร์จหรือไฟบ้าน พลังงานจะถูกกักเก็บไว้ในรูปของปฏิกิริยาเคมีเพื่อสะสมประจุไฟฟ้า จากนั้นหากรถทำงาน พลังงานนี้จะถูกแปลงเป็นไฟฟ้ากระแสตรงและส่งผ่านอินเวอร์เตอร์เพื่อเปลี่ยนเป็นไฟฟ้ากระแสสลับสำหรับจ่ายให้มอเตอร์สร้างพลังงานกลขับเคลื่อนล้อของรถยนต์ต่อไป
สิ่งต่างกันระหว่างแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ากับแบตเตอรี่รถธรรมดา
แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่รถยนต์ทั่วไปมีความแตกต่างกันอยู่หลายประการ ดังนี้
1. หน้าที่และการทำงาน
แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าทำหน้าที่เป็นแหล่งพลังงานหลักของรถไฟฟ้า โดยเก็บและจ่ายพลังงานไฟฟ้าเพื่อขับเคลื่อนมอเตอร์แทนการใช้น้ำมัน
แบตเตอรี่รถยนต์ทั่วไป ใช้สำหรับสตาร์ตเครื่องยนต์และจ่ายไฟให้ระบบไฟฟ้าภายในรถ เช่น ไฟหน้า วิทยุ และระบบแอร์
2. ประเภทของพลังงาน
แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ใช้พลังงานไฟฟ้าเต็มรูปแบบ 100% และสามารถจ่ายพลังงานให้กับมอเตอร์โดยตรงผ่านระบบอินเวอร์เตอร์
แบตเตอรี่รถยนต์ทั่วไป ใช้พลังงานไฟฟ้าแค่เพียงเป็นแหล่งจ่ายสำรองให้กับระบบต่างๆ ของรถยนต์เท่านั้น
3. ขนาดและความจุพลังงาน
แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า มีขนาดใหญ่และความจุพลังงานสูง (วัดเป็นกิโลวัตต์ชั่วโมง – kWh)
แบตเตอรี่รถยนต์ทั่วไป มีขนาดเล็กกว่าและความจุพลังงานต่ำกว่า (วัดเป็นแอมป์-ชั่วโมง – Ah)
4. อายุการใช้งาน
แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า มีอายุการใช้งานเฉลี่ย 8 - 15 ปี ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีและการดูแลรักษา
แบตเตอรี่รถยนต์ทั่วไป มีอายุการใช้งานประมาณ 2 - 5 ปี และต้องเปลี่ยนใหม่บ่อยกว่า
5. ราคาและต้นทุนการเปลี่ยน
แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า มีราคาสูงมาก (หลักแสนถึงหลักล้านบาท) เนื่องจากเป็นส่วนประกอบหลักของรถไฟฟ้า
แบตเตอรี่รถยนต์ทั่วไป มีราคาถูกกว่า (หลักพันถึงหลักหมื่นบาท) และเปลี่ยนได้ง่ายกว่า
แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ามีกี่ประเภท แบบไหนเหมาะกับรถคุณ?
แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันมีด้วยกัน 6 ประเภท ซึ่งมีจุดเด่นและข้อจำกัดที่ต่างกัน ดังนี้
1. แบตเตอรี่รถไฟฟ้าแบบตะกั่วกรด
แบตเตอรี่รถไฟฟ้าแบบตะกั่วกรด เป็นแบตเตอรี่รุ่นเก่าที่มีโครงสร้างประกอบด้วยแผ่นตะกั่วและสารละลายกรดซัลฟูริก ซึ่งนิยมใช้ในรถยนต์สันดาปเพื่อช่วยสตาร์ตเครื่องยนต์ แต่ในรถยนต์ไฟฟ้าบางรุ่นอาจมีการนำแบตเตอรี่ประเภทนี้มาใช้บ้างเพื่อเป็นแหล่งพลังงานเสริมสำหรับระบบไฟฟ้าภายในรถ
ข้อดี เป็นแบตเตอรี่ที่ทนทาน ดูแลรักษาง่าย และมีราคาถูก
ข้อจำกัด มีน้ำหนักมากและความจุพลังงานต่ำ ส่งผลให้ระยะทางขับขี่สั้นกว่าแบตเตอรี่ประเภทอื่น
2. แบตเตอรี่รถไฟฟ้าแบบนิกเกิล-เมทัลไฮไดรด์
แบตเตอรี่รถไฟฟ้าแบบนิกเกิล-เมทัลไฮไดรด์ เป็นแบตเตอรี่ที่ใช้สารประกอบโลหะไฮไดรด์และนิกเกิลออกไซด์เป็นวัสดุหลักในการเก็บประจุไฟฟ้า ซึ่งส่วนใหญ่นิยมใช้ในรถยนต์ไฮบริดมากกว่ารถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ
ข้อดี มีความทนทาน ชาร์จซ้ำได้หลายรอบ และปลอดภัยต่อการใช้งาน
ข้อจำกัด ประสิทธิภาพในการกักเก็บพลังงานยังต่ำกว่าลิเธียมไอออน และมีอัตราการสูญเสียพลังงานสูงเมื่อไม่ใช้งาน
3. แบตเตอรี่รถไฟฟ้าแบบลิเธียมไอออน
แบตเตอรี่รถไฟฟ้าแบบลิเธียมไอออน เป็นแบตเตอรี่ที่ใช้ลิเธียมไอออนเป็นตัวเก็บประจุไฟฟ้า ซึ่งได้รับความนิยมมากสำหรับใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ เนื่องจากมีประสิทธิภาพสูงและรองรับการขับขี่ระยะไกลได้
ข้อดี น้ำหนักเบา มีความจุพลังงานสูง และอายุการใช้งานยาวนานกว่าประเภทอื่น
ข้อจำกัด ราคาค่อนข้างแพงและมีความไวต่ออุณหภูมิสูง ซึ่งอาจเกิดความร้อนสะสมได้ง่ายหากไม่มีระบบการจัดการที่ดี
4. แบตเตอรี่รถไฟฟ้าแบบโซเดียม-ไอออน
แบตเตอรี่รถไฟฟ้าแบบโซเดียม-ไอออน เป็นแบตเตอรี่ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ เนื่องจากใช้โซเดียมไอออนเป็นตัวเก็บประจุ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่หาได้ง่าย โดยแบตเตอรี่ประเภทนี้กำลังได้รับความสนใจในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า และอยู่ในช่วงพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
ข้อดี ราคาถูกกว่าลิเธียมไอออน มีความปลอดภัยสูง และสามารถลดความเสี่ยงจากความร้อนสะสมหรือการลัดวงจรได้ดี ทั้งยังทนต่ออุณหภูมิต่ำได้อีกด้วย
ข้อจำกัด ความหนาแน่นของพลังงานต่ำกว่าลิเธียมไอออน ทำให้ระยะทางขับขี่สั้นกว่า
5. แบตเตอรี่รถไฟฟ้าแบบโซลิดสเตต
แบตเตอรี่รถไฟฟ้าแบบโซลิดสเตต เป็นแบตเตอรี่ที่ใช้อิเล็กโทรไลต์แข็งแทนของเหลวแบบดั้งเดิม ช่วยให้แบตเตอรี่มีความหนาแน่นพลังงานสูงขึ้น เพื่อเก็บไฟได้มากขึ้นในขนาดที่เล็กลง โดยปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงพัฒนาและกำลังเริ่มนิยมนำมาใช้ในรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่
ข้อดี มีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าแบตเตอรี่ทั่วไป
ข้อจำกัด ราคาค่อนข้างสูง เนื่องจากเทคโนโลยียังอยู่ในช่วงพัฒนาและขั้นตอนการผลิตค่อนข้างซับซ้อน
6. แบตเตอรี่รถไฟฟ้าแบบตัวเก็บประจุไฟฟ้า
แบตเตอรี่รถไฟฟ้าแบบตัวเก็บประจุไฟฟ้า เป็นแบตเตอรี่ที่ใช้ตัวเก็บประจุไฟฟ้าความจุสูงแทนอิเล็กโทรไลต์แบบเดิม ทำให้สามารถเก็บและปล่อยพลังงานได้รวดเร็ว เหมาะสำหรับการใช้งานที่ต้องการแรงดันไฟฟ้าสูงในระยะเวลาสั้นๆ โดยปัจจุบันมักถูกใช้ร่วมกับแบตเตอรี่ลิเธียมในรถยนต์ไฟฟ้าเป็นส่วนใหญ่
ข้อดี ใช้เวลาน้อยกว่าการชาร์จแบตเตอรี่ทั่วไป
ข้อจำกัด ความจุพลังงานค่อนข้างต่ำ จึงไม่เหมาะกับการใช้เป็นแหล่งพลังงานหลัก
แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าแต่ละรุ่นราคาต่างกันอย่างไร
แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าแต่ละรุ่นมีราคาที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลักๆ ได้แก่
ขนาดของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า
รถยนต์ไฟฟ้าแต่ละรุ่นใช้แบตเตอรี่ขนาดที่แตกต่างกัน ตามคุณภาพและการออกแบบของแต่ละยี่ห้อ ดังนี้
รุ่นรถยนต์ไฟฟ้า : MG ZS EV 2022 ขนาดแบตเตอรี่ (kWh) : 50.3 kWh
รุ่นรถยนต์ไฟฟ้า : GWM ORA Good Cat 2022 ขนาดแบตเตอรี่ (kWh) : 63.139 kWh
รุ่นรถยนต์ไฟฟ้า : NETA V ขนาดแบตเตอรี่ (kWh) : 38.54 kWh
รุ่นรถยนต์ไฟฟ้า : NETA U ขนาดแบตเตอรี่ (kWh) : 54 kWh
รุ่นรถยนต์ไฟฟ้า : NISSAN LEAF 2022 ขนาดแบตเตอรี่ (kWh) : 40 kWh
รุ่นรถยนต์ไฟฟ้า : Volvo C40 Recharge Pure Electric ขนาดแบตเตอรี่ (kWh) : 78 kWh
รุ่นรถยนต์ไฟฟ้า : Mercedes EQS (450+) ขนาดแบตเตอรี่ (kWh) : 107.8 kWh
รุ่นรถยนต์ไฟฟ้า : BMW iX3 ขนาดแบตเตอรี่ (kWh) : 80 kWh
รุ่นรถยนต์ไฟฟ้า : Tesla Model 3 ขนาดแบตเตอรี่ (kWh) : 82 kWh
รุ่นรถยนต์ไฟฟ้า : Tesla Model Y ขนาดแบตเตอรี่ (kWh) : 82 kWh
รุ่นรถยนต์ไฟฟ้า : BYD Dolphin ขนาดแบตเตอรี่ (kWh) : 44.9 kWh
รุ่นรถยนต์ไฟฟ้า : FOMM ONE ขนาดแบตเตอรี่ (kWh) : 12 kWh
ชนิดของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าแต่ละยี่ห้อ
แบตเตอรี่แต่ละชนิดมีความแตกต่างกันทั้งในด้านประสิทธิภาพ วัสดุ และเทคโนโลยีการผลิต ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อราคาขาย ดังนี้
Tesla ราคาแบตเตอรี่ประมาณ 10,000 - 25,000 $ หรือ 350,000 - 875,000 บาท
Volvo ราคาแบตเตอรี่ต่ำกว่า 48,000 $ หรือต่ำกว่า 1,680,000 บาท
BMW ราคาแบตเตอรี่ประมาณ 2,500 - 20,000 $ หรือ 87,500 - 700,000 บาท
Nissan ราคาแบตเตอรี่ประมาณ 6,500 - 20,000 $ หรือ 227,500 - 700,000 บาท
MG 4 Electric ราคาแบตเตอรี่ประมาณ 15,000 $ หรือ 525,000 บาท
New MG ZS EV ราคาแบตเตอรี่ประมาณ 12,900 $ หรือ 450,000 บาท
NETA V ราคาแบตเตอรี่ประมาณ 12,100 $ หรือ 420,000 บาท
FOMM ONE ราคาแบตเตอรี่ประมาณ 5,800 $ หรือ 200,000 บาท
ORA Good Cat ราคาแบตเตอรี่ประมาณ 12,800 - 16,700 $ หรือ 445,000 - 580,000 บาท
ยืดอายุแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ด้วย 3 วิธีที่ใครก็ทำได้!
นอกจากการเลือกชนิดและรุ่นของแบตเตอรี่ให้เหมาะสมแล้ว การดูแลรักษาอย่างถูกวิธีก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยยืดอายุการใช้งานแบตเตอรี่ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น โดยสามารถทำได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
1. ไม่จอดรถทิ้งไว้กลางแดดนาน
เมื่อต้องจอดรถควรเลือกบริเวณที่มีร่มเงาหรือใช้ที่บังแดดช่วยลดความร้อนสะสมเสมอ เนื่องจากหากจอดตากแดดโดยตรงเป็นเวลานาน อาจทำให้อุณหภูมิของแบตเตอรี่สูงขึ้น ส่งผลให้ระบบระบายความร้อนทำงานหนักและสิ้นเปลืองพลังงานโดยไม่จำเป็น ทั้งยังทำให้แบตเตอรี่เสื่อมสภาพเร็วกว่าที่ควรได้อีกด้วย
2. ชาร์จแบตเตอรี่รถไฟฟ้าให้ถูกวิธี
การชาร์จแบตเตอรี่รถไฟฟ้าที่เหมาะสม ไม่ใช่การชาร์จจนเต็ม 100% แต่ควรชาร์จที่ระดับ 80 - 90% เท่านั้น เพื่อลดความเครียดของเซลล์แบตเตอรี่และช่วยให้รอบการชาร์จใช้งานได้ยาวนานยิ่งขึ้นอีกด้วย ขณะเดียวกันหากชาร์จจนเต็มหรือปล่อยให้แบตเตอรี่เหลือน้อยกว่า 20% บ่อยๆ อาจทำให้ประสิทธิภาพในการเก็บพลังงานลดลงเร็วกว่าปกติได้เช่นกัน
3. หลีกเลี่ยงการชาร์จแบตเตอรี่รถไฟฟ้าแบบ DC
การชาร์จแบบ DC Fast Charging เป็นการส่งพลังงานเข้าสู่แบตเตอรี่ในปริมาณสูง ทำให้เกิดความร้อนสะสมมากกว่าการชาร์จแบบปกติ ซึ่งหากใช้บ่อยเกินไปอาจทำให้แบตเตอรี่เสื่อมสภาพเร็วขึ้นได้ ดังนั้น ควรใช้ที่ชาร์จแบตรถยนต์ไฟฟ้าแบบ AC เป็นหลัก เช่น ชาร์จจากที่บ้านหรือสถานีชาร์จปกติ จะช่วยถนอมแบตเตอรี่ได้ดีกว่า
สรุป
แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าถือเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนรถ EV ดังนั้น การเลือกประเภทและรุ่นที่เหมาะสมจะช่วยให้ได้แบตเตอรี่ที่ใช้งานได้อย่างคุ้มค่าและตอบโจทย์การขับขี่ในระยะยาวได้อย่างลงตัว นอกจากนี้ ควรมีการดูแลรักษาแบตเตอรี่อย่างถูกวิธีสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพและยืดอายุการใช้งานได้ยาวนานยิ่งขึ้น
โดยสามารถเลือกใช้บริการ Autobacs ศูนย์บริการบำรุงรักษารถยนต์ครบวงจร ที่มีมาตรฐานระดับสากล พร้อมให้บริการดูแลแบตเตอรี่รถไฟฟ้าอย่างมืออาชีพ เพื่อให้รถของคุณใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพทุกๆ วัน